Human Factors Psychology - จิตวิทยากับการออกแบบที่คำนึงถึงความเป็นมนุษย์

Pawinee Pithayarungsarit
4 min readJun 1, 2021

--

เวลาที่เราพูดถึงจิตวิทยา หลายคนอาจจะนึกถึงนักจิตวิทยาที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้คน หรืออาจนึกถึงบทความทางจิตวิทยาต่าง ๆ ที่บอกเล่าวิธีดูแลรักษาสุขภาพใจของตัวเอง เพื่อให้ทุกคนได้มี mental health and well-being ที่ดี

แต่วันนี้ เราจะขอมาเล่าถึง Human Factors Psychology อีกมุมมองหนึ่งของจิตวิทยา ซึ่งมีเป้าหมายคล้ายกัน แต่มีวิธีการ รวมถึงการนำไปใช้ที่แตกต่างจากสาขาอื่น ๆ ในจิตวิทยา เพราะจิตวิทยาสาขานี้ให้ความสำคัญกับ “การออกแบบสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในระบบ”

ทำไมเราถึงไม่ควรมองข้าม “สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวคน”

อย่างที่เรารู้กันดีว่า คนเราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวโดด ๆ ในโลกใบนี้ แต่เรามีปฏิสัมพันธ์ (interaction) กับสิ่งที่อยู่รอบตัวเราแทบจะตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นส่ิงของ สภาพแวดล้อม รวมไปถึงคนอื่น ๆ เรียกได้ว่า มนุษย์เป็นเหมือนส่วนหนึ่งของระบบที่มีสิ่งเหล่านี้อยู่ร่วมกัน

และถ้าหากเราลองสังเกตดู จะพบว่าสิ่งที่เราใช้หรือมีปฏิสัมพันธ์ด้วย มักจะมีผลกระทบต่อตัวเราเสมอ ไม่ว่าจะเป็นทางพฤติกรรม ความคิด หรืออารมณ์และความรู้สึก เช่น ในการทำงาน การมีบรรยากาศออฟฟิศที่ผ่อนคลาย หรือมีอุปกรณ์เครื่องมือที่ช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้น สิ่งเหล่านี้สามารถช่วยให้เราทำงานได้ดีขึ้น และมีความสุขในที่ทำงานได้

(Image by Gerd Altmann from Pixabay)

ในขณะเดียวกัน ถ้าสิ่งรอบตัวเราไม่เอื้อต่อการทำงาน อย่างเช่นในสถานการณ์ปัจจุบันที่หลายคนต้อง Work from Home (WFH) บางคนอาจเจอปัญหาไม่มีห้องทำงานส่วนตัวที่เหมาะสม หรือไม่มีระบบการทำงานที่รองรับ WFH ก็อาจส่งผลให้มีความเครียดมากขึ้น ซึ่งนอกจากมันจะส่งผลต่อการทำงานของเราแล้ว มันยังสามารถส่งผลไปถึง well-being โดยรวมของเราได้ด้วย

(Image by lcarissimi and Michal Jarmoluk from Pixabay)

และถ้าหากปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นกับสิ่งที่มีความสำคัญมากขึ้น เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ หน้าจอแสดงผลของหอควบคุมการบิน มันก็คงจะไม่ใช่เรื่องดีถ้าคนที่ใช้รู้สึกขัดใจหรือสับสนกับการใช้งานสิ่งเหล่านี้ เพราะนั่นอาจไม่ได้ส่งผลแค่ทำให้ไม่มีความสุขในการทำงาน แต่อาจรวมไปถึง โอกาสที่จะเกิดข้อผิดพลาดและความเสียหาย ซึ่งในบางกรณีอาจส่งผลกระทบไปถึงชีวิตของคนเลยก็ได้

ชื่อ Human Factors คงจะแปลกใหม่สำหรับใครหลายคน และสิ่งที่ Human Factors ทำอาจจะแตกต่างจากจิตวิทยาที่หลายคนเคยได้เรียนหรือรู้จักกันมา แต่ Human Factors ก็มีความสำคัญที่จะช่วยให้ชีวิตของคนปลอดภัยและสะดวกสบายมากขึ้น เราในฐานะเด็กจิตวิทยาคนหนึ่งที่มีโอกาสได้เรียนเกี่ยวกับ Human Factors จาก University of Queensland (UQ) ประเทศออสเตรเลีย เลยอยากจะมาแบ่งปันอีกมุมมองหนึ่งที่จิตวิทยาสามารถช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนให้ดีขึ้นได้

What is Human Factors Psychology?

“…human factors is an area of applied psychology in which psychological science, theory, and knowledge are used to design the environment to fit the limits and capabilities of the human users.” (Stone et al., 2017)

Human Factors Pscyhology หรือ Human Factors คือการนำเอาความรู้ความเข้าใจที่เรามีเกี่ยวกับ “คน” มาประยุกต์ใช้กับการออกแบบสิ่งต่าง ๆ ที่คนมีปฏิสัมพันธ์ด้วย ให้เกิดเป็น “Fit” ระหว่างคนและสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเหล่านั้น

ซึ่งสิ่งรอบตัวที่ว่านี้ สามารถเป็นได้ทั้งสิ่งที่จับต้องได้และไม่ได้ เช่น หน้าจอคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ เครื่องมือ ผลิตภัณฑ์ สภาพแวดล้อม ตัวงาน ระบบ ขั้นตอนการทำงาน เพื่อนร่วมงาน หัวหน้า วัฒนธรรมองค์กร รวมถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่าง AI และหุ่นยนต์ เป็นต้น ซึ่งใน Human Factors มักจะเรียกว่าเป็น elements in the environment/system that humans interact with

Elements in the environment/system that humans interact with

สรุป Human Factors คืออะไรนะ ?

เรียกได้ว่าเป็นประโยคยอดฮิตที่เราได้ยิน หลังจากอธิบาย Human Factors ให้คนอื่นฟัง (ฮ่าๆๆ) ต้องยอมรับเลยว่า หลายครั้งเวลาที่เราพยายามจะอธิบายว่า Human Factors คืออะไรให้คนอื่นเข้าใจ เรามักจะคิดหนักมาก และไม่เคยอธิบายจบในประโยคเดียวได้เลย

ตอนแรกเราก็คิดว่าอาจเป็นเพราะเรายังไม่รู้จักสาขานี้ดีพอ แต่พอได้ศึกษาเพิ่มเติม เลยทำให้เข้าใจถึงความกว้างและครอบคลุมของ Human Factors ว่าเป็นสาขาที่มีมุมมองแบบองค์รวม (holistic view) คือมอง คน (human) เป็นส่วนหนึ่งของระบบ (environment/system) ที่ประกอบไปด้วยปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกันและสามารถส่งผลกระทบต่อกันได้ รวมถึงสามารถส่งผลกระทบต่อคนได้ด้วย

ดังนั้น Human Factors เลยเน้นไปที่การทำความเข้าใจว่า

(1) คนเป็นยังไง

(2) ระบบเป็นยังไง

(3) คนและระบบมีปฏิสัมพันธ์กันยังไง

มากกว่าการ focus ในด้านใดด้านหนึ่ง หรือปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเพียงอย่างเดียว เพื่อที่เราจะได้สามารถทำความเข้าใจปัญหาหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน ถึงแม้ว่าการแก้ไขที่เกิดขึ้นจริง อาจจะเกิดขึ้นทีละด้าน และไม่สามารถพัฒนาทุกปัจจัยได้พร้อมกันก็ตาม

การมีขอบเขตของการนำไปประยุกต์ใช้ที่กว้างและหลากหลายนี้เอง เลยอาจทำให้เป็นเรื่องยากที่จะสามารถอธิบายให้คนฟังละเข้าใจได้ทันทีในหนึ่งประโยค แต่โดยส่วนตัวเราคิดว่า เมื่อเข้าใจพื้นฐานความเป็นมาของ Human Factors แล้ว คำอธิบายต่อไปนี้จาก Prof. Pennelope Sanderson ที่เราเคยเรียนด้วยที่ UQ เป็นการให้คำนิยาม Human Factors ที่จบในหนึ่งประโยคได้ดีที่สุด

“Human factors is the science and practice of human-system fit”

Psychology + Engineering (& Design)

จะเห็นว่า Human Factors คือการนำเอาความเข้าใจที่เรามีเกี่ยวกับคน เช่น ความต้องการ ความสามารถ และข้อจำกัดของคน มาประยุกต์ใช้กับการออกแบบสิ่งต่าง ๆ ที่คนใช้ เรียกได้ว่า เป็นการออกแบบโดยมีคนเป็นศูนย์กลาง (human-centered design)

(Icons made by phatplus from www.flaticon.com)

การเป็น design driven รวมถึงความหลากหลายในการนำไปใช้นี่เอง ที่ทำให้ Human Factors ไม่ได้เป็นเพียงแค่สาขาที่จำกัดอยู่ในจิตวิทยา แต่ Human Factors ถือเป็น Multidiscipline ที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาอื่น ๆ ด้วย ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ เช่น การแพทย์ อุตสาหกรรม การศึกษา รวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ เว็บไซต์/แอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่หลายคนอาจจะคุ้นชินในชื่อ User Experience/User Interface

ความเป็น Multidiscipline ของ Human Factors — Picture from the Introduction to Human Factors: Applying Psychology to Design (Stone et al., 2017)

แต่สาขาหลัก ๆ ที่เกี่ยวข้อง Human Factors คือ จิตวิทยา และ วิศวกรรม เพราะ Human Factors เน้นการแก้ปัญหาด้วยการออกแบบ ซึ่งอาจจะเป็นการออกแบบเครื่องมือ อุปกรณ์ ระบบ และฟังก์ชั่นการทำงานต่างๆ ที่หลายครั้งจำเป็นต้องใช้ความรู้จากทั้งสองแขนงมาทำความเข้าใจว่า สิ่งเหล่านั้นทำงานอย่างไร คนมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านั้นอย่างไร และเราสามารถออกแบบสิ่งเหล่านั้นให้ดีขึ้นได้อย่างไร ดังนั้น การเรียนและทำงานในอาชีพนี้ จึงมักจะได้เจอและทำงานร่วมกับผู้คนที่มาจากหลากหลายสาขาวิชา เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และมุมมองกัน ถือว่าเป็นเสน่ห์อีกอย่างของ Human Factors เลยก็ว่าได้

ด้วยสาเหตุนี้เอง เราเลยอาจจะเคยได้ยินชื่อเรียก Human Factors ที่ต่างกันออกไป เช่น Human Factors Psychology, Human Factors and Ergonomics, Human Factors Engineering, Engineering Psychology หรือแม้กระทั่ง Cognitive Engineering and Ergonomics

Human Factors vs Ergonomics

หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า Ergonomics มาก่อน ซึ่งตัวมันเองมักจะหมายถึงสาขาที่เกี่ยวกับการออกแบบปัจจัยทางกายภาพ เช่น การออกแบบโต๊ะ เก้าอี้ สภาพแวดล้อม เครื่องมือ ให้เข้ากับสรีระร่างกายมนุษย์ (physical aspects) เพื่อลดอาการบาดเจ็บหรือความไม่สบายกายที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการทำงาน ในขณะที่ Human Factors ในสมัยก่อนมักจะถูกใช้เพื่อสื่อถึงปัจจัยทางจิตใจและความคิด (psychological and cogntive aspects) เช่น การออกแบบระบบทำงานให้ support ระบบความคิดของคน

Ergonomics กับการออกแบบโต๊ะนั่งทำงาน (ซ้าย) และ Human Factors กับการออกแบบระบบทำงานในคอมพิวเตอร์ (ขวา) — Designed by Freepik

แต่ในปัจจุบันคำว่า Human Factors และ Ergonomics มักจะถูกใช้ด้วยกัน และสามารถแทนกันได้ ซึ่งเห็นได้จากคำอธิบายของ the International Ergonomics Association (IEA) ที่อยู่ด้านล่างนี้ ดังนั้นเราเลยมักจะได้ยินหรือเห็นชื่อ Human Factors/Ergonomics (HF/E) บ่อยๆ และกลายเป็นชื่อที่ถูกใช้โดย the Human Factors and Ergonomics Society (HFES) ในที่สุด

“Ergonomics (or human factors) is the scientific discipline concerned with the understanding of interactions among humans and other elements of a system, and the profession that applies theory, principles, data, and methods to design in order to optimize human well-being and overall system performance.” (IEA, 2000)

ด้านต่าง ๆ ที่ Human Factors and Ergonomics ศึกษา — Picture from the International Ergonomics Association website (https://iea.cc/what-is-ergonomics/)

Aiming for Both Performance and Well-Being

By fitting the environment to the human, HF/E can contribute to optimising BOTH performance and well-being

เพราะ Human Factors ถือว่าเป็น field ที่ค่อนข้างใหม่สำหรับคนไทย ยังไม่ค่อยมีคนรู้จักหรือศึกษาในด้านนี้มากนัก หนึ่งในคำถามที่หลายคนอาจอยากรู้คือ แล้วเราต้องใช้ Human Factors ไปทำไม ถ้าถามเรา เราคิดว่า Human Factors คือทางออกหนึ่งที่สามารถช่วยพัฒนาทั้งการทำงานและคุณภาพชีวิตของคนให้ดีขึ้นได้ไปพร้อม ๆ กัน เพราะ Human Factors ให้ความสำคัญกับสิ่งสองสิ่งนี้ ได้แก่

(1) Performance: การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของคนและระบบ ให้คนสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ (safety and efficiency) รวมถึงลดโอกาสที่จะเกิดข้อผิดพลาด (errors)

(2) Well-being: การดูแลสุขภาวะทั้งทางกายและทางใจของคน ให้คนทำงานได้อย่างมีความสุข ปลอดภัย และรู้สึกพึงพอใจในสิ่งที่ทำ

Performance can influence well-being, and well-being can influence performance, both in the short and the long-term (Dul et al., 2012).

ไม่ใช่แค่อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ Human Factors ให้ความสำคัญกับทั้ง Performance และ Well-being ไปพร้อม ๆ กัน เพราะ Human Factors เชื่อว่า ถ้าเราสามารถทำงานได้ดีขึ้น (better performance) ก็สามารถส่งผลให้เรารู้สึกดีขึ้น (better well-being) ไปด้วย และในทางกลับกัน ถ้าเรามีความเครียดสูง เหนื่อยล้า หรือเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา มันก็อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของเราได้ ซึ่งในบางกรณีอาจก่อให้เกิดความเสียหายถึงชีวิตได้เลย เช่น คุณหมอที่อดนอนเป็นเวลานานจากการทำงานมากเกินไป อาจส่งผลให้เกิดข้อผิดพลาดระหว่างรักษาคนไข้ได้

ดังนั้น Human Factors เลยเชื่อว่า เราไม่ควร focus กับแค่อย่างใดอย่างเดียว แต่ควรพัฒนาทั้งสองอย่างไปด้วยกัน และเราสามารถทำแบบนั้นได้ ผ่านการออกแบบที่คำนึงถึงความสามารถและข้อจำกัดของคนนั่นเอง เพราะการออกแบบที่ดีจะสามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ทั้งสองได้โดยที่ไม่ต้อง trade off อันใดอันหนึ่ง

References

Center for Occupational & Emvironmental Health. (n.d.). The Difference between Human Factors and Ergonomics. https://www.coeh.berkeley.edu/post/the-difference-between-human-factors-and-ergonomics

Dul, J., Bruder, R., Buckle, P., Carayon, P., Falzon, P., Marras, W. S., Wilson, J. R., & van der Doelen, B. (2012). A strategy for human factors/ergonomics: Developing the discipline and profession, Ergonomics, 55(4), 377–395. https://doi.org/10.1080/00140139.2012.661087

International Ergonomics Association. (n.d.). What is ergonomics? https://iea.cc/what-is-ergonomics/

Stone, N. J., Chaparro, A., Keebler, J. R., Chaparro, B. S., & McConnell, D. S.(2017). Introduction to human factors: Applying psychology to design. CRC Press.

--

--

Pawinee Pithayarungsarit
Pawinee Pithayarungsarit

Written by Pawinee Pithayarungsarit

Psychology graduate who enjoys traveling and is interested in human factors & well-being

No responses yet